ทำแผลอย่างไรให้ปลอดภัย ที่ คลินิก อ้อมกอด ลำปาง

ในการดูแลแผลภายหลังการผ่าตัดหรือทำหัตถการ การล้างแผลอย่างถูกวิธีมีความสำคัญมาก เพราะหากทำผิดวิธี อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ ในบทความนี้ เราจะแนะนำวิธีการล้างแผลและการดูแลที่เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงและส่งเสริมการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

ชนิดของการล้างแผล

  • การล้างแผลแบบแห้ง ใช้สำหรับล้างแผลสะอาด แผลปิด แผลที่ไม่มีการอักเสบ เป็นแผลเล็กๆ
  • การล้างแผลแบบเปียก ใช้สำหรับล้างแผลที่มีลักษณะเป็นแผลเปิด แผลอักเสบติดเชื้อ การปิดแผลขั้นแรกจะใช้วัสดุที่มีความชื้น เช่น ผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือ (0.9% normal saline) ปิดไว้ แล้วปิดด้วยผ้าก๊อซแห้งอีกครั้ง

วัตถุประสงค์ของการล้างแผล

  • เพื่อให้แผลมีสภาวะที่ดี เหมาะแก่การงอกของเนื้อเยื่อ
  • ดูดซึมสารคัดหลั่ง เช่น เลือด น้ำเหลือง หนอง
  • จำกัดการเคลื่อนไหวของแผลให้อยู่นิ่ง
  • ให้ความชุ่มชื้นกับพื้นผิวของแผลอยู่เสมอ
  • ป้องกันไม่ให้ผ้าปิดแผลติด และดึงรั้งเนื้อเยื่อที่งอกใหม่
  • ป้องกันแผล หรือเนื้อเยื่อที่เกิดใหม่จากสิ่งกระทบกระเทือน
  • ป้องกันแผลปนเปื้อนเชื้อโรคจากอุจจาระ ปัสสาวะ หรือสิ่งสกปรกอื่นๆ
  • เป็นการห้ามเลือด

อุปกรณ์ที่ใช้ล้างแผล

ชุดทำแผลที่ผ่านขั้นตอนการทำให้ปราศจากเชื้อ ประกอบด้วย ปากคีบชนิดไม่มีเขี้ยว ปากคีบมีเขี้ยว ถ้วยใส่น้ำยา สำลี ผ้าก๊อซ น้ำยาฆ่าเชื้อ เบตาดีน หรือโปรวิดีน ไอโอดีน หรือยาฆ่าเชื้ออื่นๆ ตามแผนการรักษาของแพทย์ น้ำเกลือล้างแผล (โซเดียมคลอไรด์) แอลกอฮอล์ 70% ใช้สำหรับเช็ดผิวหนังรอบๆ พลาสเตอร์ และผ้าพันแผล แต่แผลบางชนิดอาจไม่ต้องใช้

ขั้นตอนการล้างแผลแบบแห้ง

  • เปิดแผลโดยใช้มือหยิบผ้าปิดแผล โดยพับส่วนที่สัมผัสแผลอยู่ด้านในทิ้งลงในภาชนะรองรับ
  • เปิดชุดทำแผล หยิบปากคีบอันแรกโดยใช้มือจับด้านนอกของผ้าห่อชุดทำแผล หยิบขึ้น แล้วหยิบปากคีบอันที่สอง โดยใช้ปากคีบอันแรกหยิบ และส่งให้มืออีกข้างหนึ่ง โดยให้มือข้างที่ถนัดจับปากคีบมีเขี้ยว กรณีที่ใส่ถุงมือปลอดเชื้อให้ใช้มือหยิบได้เลย
  • ใช้ปากคีบไม่มีเขี้ยว คีบสำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% ประมาณ 2/3 ของก้อน หรือพอหมาด ส่งต่อปากคีบมีเขี้ยวที่อยู่ต่ำกว่า นำไปเช็ดชิดขอบแผล และวนออกนอกแผลประมาณ 2-3 นิ้ว หากยังไม่สะอาด ให้ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% เช็ดซ้ำ สำลีที่ใช้ทำความสะอาดแล้วให้ทิ้งลงในภาชนะรองรับ โดยที่ปากคีบไม่สัมผัสภาชนะรองรับ
  • ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ และติดพลาสเตอร์ ตามแนวขวางของลำตัว

ขั้นตอนการล้างแผลแบบเปียก

  • เปิดแผลโดยใช้มือหยิบผ้าปิดแผลส่วนบนทิ้งลงในภาชนะรองรับ เปิดผ้าปิดแผลชั้นที่ติดกับแผลด้วยปากคีบมีเขี้ยว หากผ้าปิดแผลหรือผ้าก๊อชแห้งติดแผลให้ใช้สำลีชุบน้ำเกลือหยดบนผ้าปิดแผลหรือผ้าก๊อซก่อน เพื่อให้เลือดหรือน้ำเหลืองอ่อนตัว จะช่วยให้ผ้าปิดแผลหลุดง่าย และไม่ทำลายเนื้อเยื่อที่สร้างขึ้นมาใหม่
  • ทำความสะอาดริมขอบแผล เช่นเดียวกับการล้างแผลแบบแห้ง
  • ใช้สำลีชุบน้ำเกลือหรือน้ำยาเช็ดภายในแผลจนสะอาด
  • ใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำยาใส่ในแผลเพื่อฆ่าเชื้อโรค ดูดซับสิ่งคัดหลั่งและให้ความชุ่มชื้นแก่เนื้อเยื่อ
  • ปิดแผลด้วยผ้า หรือผ้าก๊อซ หุ้มสำลีตามขนาดของแผล และปิดพลาสเตอร์ตามแนวขวางของลำตัว

สำหรับแผลที่เท้าของผู้เป็นเบาหวาน แพทย์จะต้องประเมินตามสภาพของแผล เช่น หากเป็นแผลผ่าตัดจัดเป็นแผลสะอาด ส่วนแผลที่มีหนอง อักเสบ บวม แดง หรือมีเนื้อตาย ถ้าได้รับการดูแลเอาหนองหรือตัดเนื้อตายออก และล้างแผลให้สะอาดจากแพทย์โดยไม่มีการติดเชื้อแล้ว จัดว่าเป็นแผลสะอาด

คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเกี่ยวกับการดูแลแผล

  • ระวังไม่ให้แผลถูกน้ำ หรือเปียกชุ่ม หากแผลชุ่มมากควรเปลี่ยนผ้าปิดแผลใหม่ทันที
  • ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเพียงพอเพื่อให้ร่างกายได้รับ น้ำ โปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ เช่น วิตามินซี เอ และ อี เป็นต้น เพื่อสร้างเนื้อเยื่อและเสริมความแข็งแรงให้กับแผล
  • หากเกิดอาการคัน หรือแพ้พลาสเตอร์ ควรเปลี่ยนชนิดใหม่ ไม่ควรเกาเพราะจะทำให้ผิวหนังรอบแผลช้ำถลอก เกิดการอักเสบติดเชื้อลุกลามขยายเป็นแผลกว้างได้
  • หากสังเกตว่าแผลมีอาการบวม แดง เริ่มรู้สึกปวดมากขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์

Leave A Comment

All fields marked with an asterisk (*) are required